วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552

ทุกข์ได้....ก็สุขได้
อาจารย์พีรพัฒน์ ถวิลรัตน์


“เพราะพระเจ้ามิทรงปรารถนาความวุ่นวาย แต่ทรงปรารถนาสันติ”
(1 โครินธ์ 14:33)


          ในวันที่เรารู้สึกทุกข์ วุ่นวายใจ ผิดหวัง โกรธ หรือน้อยใจ เรารู้ตัวหรือไม่ว่า เรากำลังขาดอะไร เราทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ และเรารู้สึกหรือไม่ว่า เมื่อทุกข์ได้... ก็สุขได้  เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 2 ล้านคน ในเรื่องภาวะซึมเศร้า ความกังวลกลัว (anxiety) ความสุขและความ พึงพอใจในชีวิต (life satisfaction) พบว่า ประชาชนมีความสุขมากที่สุด ในช่วงอายุ 20 ปี (20-29 ปี) และช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงรายงานว่า ช่วงอายุ 40-49 ปี คือช่วงที่รู้สึกว่ามีภาวะซึมเศร้าและมีความสุขน้อย โดยช่วงที่รู้สึกว่ามีความสุขน้อยที่สุด คือ อายุประมาณ 44 ปี (Pinder, 2008)มีคนมากมายที่ประสบปัญหาในชีวิต โดยเสมือนไม่มีทางเลือก สมชายเป็นเด็กวัยรุ่นอายุประมาณ 14 ปี ชีวิตของสมชายน่าจะมีความสุข มีเพื่อน มีพ่อแม่ มีคุณครูที่คอยดูแลให้กำลังใจ แต่สมชายกลับกลุ้มใจในการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตนเอง และไม่กล้าปรึกษาใคร สมศรีเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 มีหนุ่มๆ มารุมจีบ ชีวิตของสมศรีน่าจะมีความสุข จากการที่มีคนมารุมรักและเอาอกเอาใจ แต่สมศรีต้องการจะเรียนหนังสืออย่างดีที่สุด และรู้สึกว่าหนุ่มๆ เหล่านั้นกวนใจเธออย่างมาก หากเป็นสาวคนอื่นที่ต้องการหนุ่มมารุมล้อมคงปลื้มและพึงพอใจอย่างมาก ส่วนสมหญิงแม่บ้านลูกสองกำลังกังวลใจที่ลูกสาวคนโตมีหนุ่มมารุมจีบ และน้องชายคนเล็กชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ขณะที่สมบัติซึ่งเป็นพ่อบ้านตั้งใจทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน.... คุณคิดว่า พวกเขามีความสุขหรือไม่?
          ความสุขนับว่าเป็นสุดยอดปรารถนาประการหนึ่งของมนุษย์ แต่จริงๆ แล้ว ความสุขคืออะไร?
ในมุมมองจิตวิทยา ความสุข (Happiness) คือ สภาวะอารมณ์เชิงบวก ที่แต่ละบุคคลให้ความหมายแตกต่างกันตามการรับรู้ (Snyder & Lopez, 2007) หลายครั้งนักจิตวิทยาใช้คำว่า สุขภาวะส่วนบุคคล (Subjective well-being) ในความหมายเดียวกับคำว่า ความสุข เพื่อบ่งบอกถึงสภาวะทางอารมณ์เชิงบวก ความชื่นชมยินดีและความพึงพอใจในชีวิต (Diener, 1984, 2000; Diener, Lucas, & Oishi, 2002)
ขณะที่มุมมองของคาร์ล โรเจอรส์ นักจิตวิทยา ผู้คิดค้นวิธีการทำจิตบำบัดแบบเน้นบุคคลเป็นศูนย์กลางเห็นว่า บุคคลที่มีความสุข คือ บุคคลที่มองเห็นตนเองตรงกับตนตามความเป็นจริง มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ผูกมัดตนเองกับประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป หรือไม่หมกมุ่นอยู่กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เปิดใจกว้างรับรู้ความคิดความรู้สึกของตนอย่างจริงใจ ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ บุคคลที่มองเห็นตนเองตรงกับตนตามความเป็นจริง จึงมีความมั่งคงทางอารมณ์และบุคลิกภาพ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่ค่อยมีความวิตกกังวล ไม่ค่อยใช้กลไกป้องกันตนเอง มีความพึงพอใจในตนเอง ซึ่งมักจะนำไปสู่ความพอใจในบุคคลอื่นด้วย (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2539)
      ในมุมมองทางจิตวิทยา ความสุขจึงไม่ใช่สิ่งที่แสวงหาได้จากภายนอก แต่มีอยู่ภายในใจของเรา เพราะเมื่อใดที่เราแสวงหาความสุข เรากำลังออกจากตัวเองไปสู่บางสิ่งบางอย่าง ไปสู่ความคาดหวัง ที่เราอาจจะได้รับหรือไม่ได้รับ เรากำลังออกจากปัจจุบันไปหมกมุ่นอยู่กับอนาคต ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความคาดหวังคือประตูที่เปิดรอรับการมาเยือนของความผิดหวัง  จากตัวอย่างครอบครัวของสมบัติ สมบัติตั้งใจทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ความคาดหวังของสมบัติน่าจะเป็นต้องการที่อยากจะเห็นทุกคนในครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีความสุข แต่ผลที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งคือ สมบัติแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน และอยู่กับครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงน่าจะไม่ราบรื่นตามไปด้วย สมาชิกบางคนในครอบครัวอาจจะไม่เห็นคุณค่าของการทำงานหนัก ที่สมบัติทำอยู่ก็เป็นได้ ขณะที่สมหญิงกังวลใจที่ลูกสาวคนโตมีหนุ่มมา รุมจีบ และน้องชายคนเล็กชอบเก็บตัว สมหญิงอาจจะคาดหวังให้สมศรีลูกสาว ประสบความสำเร็จในการเรียน มีงานทำที่ดี ไม่มีปัญหาเรื่องผู้ชาย และคาดหวังให้สมชายลูกชายคนเล็กมีความกล้าแสดงออกมากกว่านี้ อันที่จริง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ และพัฒนาการตามวัย การพูดคุย ทำความเข้าใจและให้กำลังใจลูกจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อความสุขขึ้นอยู่กับการรับรู้ หรือการมองโลกของแต่ละบุคคลตามตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสุขมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายพอๆ กับความทุกข์ ขึ้นอยู่กับมุมมองการรับรู้ของเราที่มีต่อโลก
        อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมที่บุคคลดำรงชีวิตอยู่ ย่อมส่งผลต่อความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในใจของบุคคลนั้นด้วย  จากงานวิจัยของ Dr. Alice Isen นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการทำวิจัยด้านอารมณ์เชิงบวก (Positive emotion) พบว่า ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่กำลังประสบความสุข เราจะมีลักษณะคล้ายๆ ดังนี้คือ 1) จะช่วยเหลือผู้อื่น (Isen, 1987) 2) จะมีความคิดที่ยืดหยุ่นเปิดกว้าง (Ashby, Isen,& Turken, 1999) 3) จะเห็นทางออกของปัญหาที่กำลังประสบ (Isen, Daubman,& Nowicki, 1987)  สภาพแวดล้อมที่ดี ที่เอื้อต่อการพัฒนา ที่เสริมสร้างสุขภาวะ นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาจิตใจของมนุษย์อย่างยิ่ง สภาพแวดล้อมนี้รวมความถึงบุคคล ธรรมชาติแวดล้อม สื่อต่างๆ ทั้งภาพและเสียง ฯลฯ Barbara Fredrickson (2000 อ้างถึงใน Snyder & Lopez, 200) ได้ทำการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพยนตร์ที่กระตุ้นอารมณ์ โดยแต่ละบุคคลจะได้ดูคลิปภาพยนตร์ที่แสดงอารมณ์แตกต่างกัน ได้แก่ ความรู้สึกชื่นชมยินดี ความรู้สึกพึงพอใจ ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกกลัว และความรู้สึกกลางๆ หลังดูภาพยนตร์จบ Fredrickson ให้กลุ่มตัวอย่างจดรายการทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พวกเขาอยากจะทำ ณ เวลานั้น ผลปรากฎว่า กลุ่มที่ดูภาพยนตร์ด้านบวก (ความรู้สึกชื่นชมยินดีและความรู้สึกพึงพอใจ) สามารถจดรายการที่อยากจะทำ ณ เวลานั้นได้มากกว่ากลุ่มที่ดูด้านลบ หรือความรู้สึกกลางๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ปัจจุบัน สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ โทรทัศน์ ต่างเข้าถึงตัวบุคคลได้ง่ายและรวดเร็ว สมัยนี้ ถ้าเราอยากรู้ข่าวสารเรื่องใด เราไม่จำเป็นต้องเดินไปซื้อหนังสือพิมพ์แล้ว เราอาจเปิดอินเตอร์เน็ตรับข่าวผ่าน sms, mms บนมือถือ เทคโนโลยีทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า สื่อต่างๆ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อชีวิตมนุษย์ ทั้งที่ธรรมชาติของมนุษย์ต้องอยู่กับบุคคลและธรรมชาติ ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ  ชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้ จึงถูกจำกัดศักยภาพ ให้อยู่แต่ในโลกแคบๆ ในห้องเรียน ห้องทำงาน ที่พักอาศัยที่เล็กและแคบ ความคิดจึงไม่ทะลุปรุโปร่ง ความจำสั้นลง ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ระแวงบุคคลแปลกหน้ามากขึ้น ห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น จนดูราวกับว่า การได้เห็นธรรมชาติเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ชีวิตเช่นนี้ทำให้มนุษย์มองเห็นความทุกข์มากกว่าความสุข และจมปรักอยู่กับปัญหามากกว่าการทุ่มเทพลังให้กับการแสวงหาทางออก  อันที่จริงประสบการณ์ชีวิตทุกอย่างล้วนมีคุณค่า โดยเฉพาะต่อการขัดเกลามุมมองในปัจจุบัน  โดยทั่วไปเรามักจะชอบประสบการณ์ชีวิตที่ดี ที่เติมเต็มความสุขจนลืมไปว่า เราไม่อาจจะกำหนดวิถีชีวิตของเราได้ทั้งหมด และที่สำคัญ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราเพียงอยากจะได้ในสิ่งที่เราอยากจะได้เท่านั้น  หลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาต้องเคราะห์ร้าย ทำไมทำดีไม่ได้ดี ทำไมไม่มีใครอยากจะคบกับเขา ฯลฯ การตั้งคำถามเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับชีวิต คำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะดียิ่งกว่า ถ้าเราจะพยายามเรียนรู้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยความเชื่อว่า ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้
          ทั้งนี้เพราะมนุษย์แต่ละคนจะได้รับ บทเรียนเฉพาะตัว ผ่านประสบการณ์ชีวิต ที่ประกอบด้วยความสุขและความทุกข์ ถ้าเรายึดติดกับความสุขหรือความทุกข์ นั่นแสดงว่า เราไม่ได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตที่พระเจ้าประทานให้ เรากำลังปล่อยให้ประสบการณ์อันทรงคุณค่า ผ่านชีวิตของเราไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่บทเรียนต่างๆ เหล่านี้ มีให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่
จากบทเรียนชีวิตของบุคคลต่างๆ นักจิตวิทยาหลายท่านได้ทำการศึกษา และประมวลผลออกมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งพอจะสรุปเรียบเรียงเป็นแนวทางง่ายๆ ได้ดังนี้ (Myers’s, 1993; Ryff & Keyes, 1995; Rutter, 1985; Ryan & Deci, 2001; Salovey & Mayer, 1990; Baumeister & Vohs, 2002)
1. ยอมรับความจริง คาร์ล จุง นักจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์กล่าวว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ หากเราไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้นก่อน” ทั้งนี้เพราะ การยอมรับเป็นพื้นฐานสำคัญของการปลดปล่อยจิตใจของเรา ออกจากความทุกข์ ออกจากความคาดหวัง ออกจากความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ และการยอมรับความจริงเป็นเครื่องบ่งบอกประการหนึ่งของการมีสุขภาพจิตที่ดี
2. เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต ทุกคนและทุกสิ่งที่ก้าวเข้ามาในชีวิต ล้วนเป็นครูของเรา จริงอยู่ที่บางครั้ง บางประสบการณ์อาจทำให้เราโกรธ หัวเสีย ผิดหวัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเพียงพอ ที่จะทำให้เรามีสติ เราจะพบว่า ประสบการณ์เหล่านั้น ล้วนช่วยให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น ทำให้เรารู้ถึงขีดจำกัดของตนเพิ่มมากขึ้น จึงน่าจะกล่าวได้ว่า “ถ้าเราพร้อมจะเรียนรู้ เราก็มีครูอยู่รอบกาย”
3. มองโลกในแง่ดี ดร.นอร์แมน วินเซนต์ พีล นักจิตวิทยา นักพูดและนักเขียน เจ้าของผลงาน The Amazing Results of Positive Thinking กล่าวว่า “การคิดในแง่บวกได้ผลเสมอ” เนื่องจาก ถ้าเรามองหาสิ่งใด ก็มักจะพบสิ่งนั้น คิดอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดบวก เราจะมองปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิต เป็นเรื่องท้าทายและพยายามหาทางแก้ไข มากกว่าที่จะปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้อารมณ์โกรธ ท้อแท้ สิ้นหวัง ฯลฯ การจะเป็นผู้คิดบวกได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะรักตนเอง รักในความเป็นเรา รู้จักให้อภัย ไม่โทษตนเองหรือผู้อื่น มองหาแต่สิ่งดีๆ ในทุกสถานการณ์ มีใจเมตตา รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และเชื่อว่า เราทำได้ เราเรียนรู้ได้
4. ดูแลสุขภาพกาย จิตใจที่ดีย่อมอยู่ในสุขภาพกายที่ดี การดูแลสุขภาพกายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า “เอนเดอร์ฟิน” การพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ เป็นต้น
5. คบเพื่อนที่ดี นักคิด นักเขียนคนหนึ่งชื่อ Walter Winchell กล่าวว่า “เพื่อนแท้คือ บุคคลที่เดินเคียงข้างเรา ในวันที่คนอื่นเดินจากไป” ชีวิตที่ปราศจากเพื่อน เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการพัฒนาตนเอง ความโดดเดี่ยวเป็นอุปสรรคต่อความงอกงามของชีวิต เป็นสาเหตุหนึ่งของความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการมีสุขภาวะของมนุษย์ ในความสัมพันธ์เราจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิต พร้อมทั้งเสริมสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตน และแน่นอนในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จะทำให้เราได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นในฐานะบุคคล
6. ทำงานที่คุณรัก อาชีพการงานเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากต่อชีวิตมนุษย์ หากเราสังเกตให้ดี จะพบว่า การทำงานและการมีชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน บางคนอาจมีความสุขกับงานที่ทำ บางคนอาจจะไม่ แต่ที่สุดแล้ว ไม่มีงานไหนที่จะสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง ถ้าเราทำงานบนความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบ นั่นแสดงว่า เราเลือกที่จะไม่อยู่บนความเป็นจริงของชีวิต ดังนั้น ถ้าเราไม่ชอบในงานที่ทำอยู่ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า อะไรคืองานที่เราชอบ งานนั้นเหมาะสมกับเรามั้ย และเรารักงานนั้นหรือไม่ หลังจากนั้นลองพิจารณาดูว่า เราควรเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง หรือควรจะเปลี่ยนงานดีกว่ากัน
7. รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นข้อดี และเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะมีบุคคลที่อยากจะเป็นเพื่อนด้วย ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นทำได้ง่ายๆ ด้วยการฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น และเมื่อเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นแล้ว เราควรจะแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น รู้จักพูดให้กำลังใจผู้ที่กำลังเศร้าเสียใจ หรือกล่าวขอบคุณผู้ที่ทำดีต่อเรา เป็นต้น
8. มีเป้าหมายในชีวิตที่เหมาะสม เป้าหมายมีความสำคัญต่อสุขภาวะของมนุษย์ บุคคลที่ปราศจากเป้าหมาย บ่อยครั้งมักจะรู้สึกว่า ชีวิตของตนไร้ความหมาย และมักจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร้ทิศทาง การทำให้ชีวิตมีเป้าหมายและการบรรลุเป้าหมายนั้น เราอาจเริ่มต้นจากการค้นหาความปรารถนาภายในใจของตนก่อนว่า เราต้องการอะไรมากที่สุด จากนั้นเขียนลงบนกระดาษ สิ่งที่เขียนควรเป็นรูปธรรม ชัดเจน มีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งกำหนดวันเวลา ที่คาดว่า เราควรจะบรรลุเป้าหมายนั้น สุดท้าย ทบทวนเป้าหมายที่เขียนทุกวันเป็นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่า เป้าหมายคือแนวทางในการดำเนินชีวิต มิใข่ชีวิต
9. รู้จักขอบคุณ คำ “ขอบคุณ” เป็นคำที่สวยงาม เพราะออกมาจากใจที่เห็นคุณค่าของผู้อื่น ถ้าใครพูดขอบคุณเพราะเป็นมารยาท คำๆ นี้จะเป็นเพียงคำธรรมดาๆ ที่ว่างเปล่าและขาดพลัง คำขอบคุณจึงเป็นตัวสะท้อนถึงภาวะใจของมนุษย์ ที่สามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีคุณค่าในใจของผู้รับและผู้ให้เสมอ
10. หล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ มีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่ปฎิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ จะมีความสุขมากกว่าและเผชิญกับวิกฤติในชีวิตได้ดีกว่า ผู้ที่ไม่นับถือศาสนา การปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีจะช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณให้เติบโตงอกงาม ไม่อับเฉาไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ มีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และสามารถดำเนินชีวิตในยามปกติได้อย่างมีความสุขและมีความหมาย
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ด้วยการกระทำที่ยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียว ตรงกันข้าม เราจะพบกับความสุขได้จากความสำนึกรู้ตัวในประสบการณ์ชีวิตทีละเล็กทีละน้อย ด้วยการใส่ใจกับปัจจุบันขณะ (here and now) สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ต่างหาก ที่จะบันดาลความสุขที่ยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตของเรา และทำให้เราเรียนรู้ว่า “เมื่อทุกข์ได้... ก็สุขได้”.



บรรณานุกรม

แมตทิวส์, แอนดรูว์. (2547). ก้าวไปตามใจฝัน. แปลโดย วีรญา หุมาญณ์. กรุงเทพมหานคร:
ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2539). ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ รู้เขา รู้เรา. พิมพ์ครั้งที่ 4.
กรุงเทพมหานคร: หมอชาวบ้าน.
สันต์ ศัลยศิริ. (2548). E.Q. บริหารอารมณ์อย่างฉลาด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:
ชบา พับลิชชิ่ง เวิร์กส.
Ashby, F., Isen, A.M., & Turken, A. (1999). A neuropsychological theory of positive affect
and its influence on cognition. Psychological Review, 106, 529-550.
Baumeister, R.F., & Vohs, K.D. (2002). The pursuit of meaningfulness in life. In C.R. Snyder
& S.J. Lopez (Eds.), The handbook of positive psychology (pp. 608-618). New York:
Oxford University Press.
Diener, E. (1984). Subjective well-being. Psychological Bulletin, 95, 542-575.
Diener, E. (2000). Subjective well-being: The science of happiness and proposal for
a national index. American Psychologist, 55, 34-43.
Diener, E., Lucas, R., & Oishi, S. (2002). Subjective well-being: The science of happiness
and life satisfaction. In C.R. Snyder & S.J.Lopez (Eds.), The handbook of positive
psychology (pp. 63-74). New York: Oxford University Press.
Diener, E., & Seligman, M.E.P. (2003). Very happy people. Psychological Science,
13, 81-84.
Isen, A.M. (1987). Positive affect, cognitive processes, and social behavior. Advances
in Experimental Social Psychology, 20, 203-253.
Isen, A.M., Daubman, K.A., & Nowicki, G.P. (1987). Positive affect facilitates creative
problem solving. Journal of Personality and Social Psychology, 21, 384-388.
Myers, D. (1993). The pursuit of happiness. New York: Avon Books.
Pinder, G. (2008). Mid-Life Blues. [online]. Available from: http:// ezinearticles.com/
mid-life blues[2009,January 4]
Rutter, M. (1985). Resilience in the face of adversity: Protective factors and resistance
to psychiatric disorder. British Journal of Psychiatry, 147, 598-611.
Ryan, R., & Deci, E. (2001). On happiness and human potentials: A review of research
on hedonic and eudaemonic well-being. Annual Review of Psychology, 52, 141-166.
Ryff, C., & Keyes, C. (1995). The structure of psychological well-being revisited.
Journal of Personality and Social Psychology, 57, 1069-1081.
Salovey, P., & Mayer, J. (1990). Emotional intelligence. Imagination, Cognition, and
Personality, 9, 185-211.
Snyder, C., & Lopez, S. (2007). Positive psychology. CA: Sage.

ไม่มีความคิดเห็น: